วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561
กลายเป็นวิกฤตซ้ำซากที่วนมาทุกปีกับ “ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ที่ปกคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงฤดูหนาว โดยรอบนี้ กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร ออกมาเตือนว่าหลายพื้นที่สามารถตรวจวัดฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ถามว่าจะกล้าลงมือแก้ปัญหาที่สาเหตุหรือไม่ ตอบล่วงหน้าได้เลยว่า คงไม่ ไม่งั้นคงไม่วนมาแล้ววนไป วนเวียนอยู่อย่างที่เห็น
อย่าไปเที่ยวชี้นิ้วโทษประชาชนคนปิ้งย่าง หรือโทษคนตาย สัปเหร่อเผาศพ หรือจัดผักชีโรยหน้า ล้างถนน ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อผลทางจิตวิทยาแต่ว่าไม่ได้ช่วยอะไรกันให้เสียเวลา ทั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร โชว์ความสามารถจัดการเรื่องนี้ที่ต้นตอใหญ่กันเลยดีกว่าไหม?
หมอกคลุม ฝุ่นพิษ ชีวิตตายผ่อนส่ง
เพียงอยากจะมีหน้าหนาวกับเขาบ้าง คนกรุงเทพฯและปริมณฑลมีความเสี่ยงถึงกับต้องเดิมพันกันด้วยชีวิตกันเลยทีเดียว เพราะเมื่อหนาวมาเยือนทีไร มักจะมาพร้อมกับไอหมอกปกคลุมท้องฟ้าขมุกขมัว บรรยากาศลางเลือนสลัวเต็มไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก เปรียบไปคล้ายกับเงามัจจุราชคร่าวิญญาณ เพราะอากาศที่มีฝุ่นพิษสูงเกินมาตรฐานสามารถทะลุทะลวงถุงลมปอดเข้าสู่เส้นเลือดทำให้อุดตันเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเอาได้ง่ายๆ ยังไม่นับว่านี่เป็นหนึ่งในต้นเหตุก่อมะเร็ง โซนไหนขึ้นสีแดงคืออันตรายสุดๆ อาจทำให้ผู้รักการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ต้องการความแข็งแรงมีชีวิตยืนยาว มีอันเป็นไปไวกว่าพวกนั่งนิ่งในอาคารบ้านช่อง
ก่อนอื่น มารู้จักฝุ่น PM2.5 กันก่อนว่า คืออะไร ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์และการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่
นับตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2561 เป็นต้นมา กรุงเทพฯและปริมณฑล มีสภาพอากาศนิ่ง หรือสภาพอากาศปิด อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ช่วงเช้ามีหมอกปกคลุม ทำให้อากาศไม่หมุนเวียน เกิดการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น เพราะโดยสภาพแล้วกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเมืองใหญ่ มีปริมาณรถยนต์มาก การจราจรติดขัด ทำให้ควันรถยนต์หรือฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ผสมกับหมอกกลายเป็นหมอกควันจำนวนมาก เมื่อเจอกับอากาศนิ่ง หมอกปกคลุม ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กบนท้องถนนและพื้นที่ทีมีการเผาไหม้กระจายตัวอยู่บนพื้นราบ ไม่สามารถลอยขึ้นสู่ข้างบนได้
สภาพอากาศเมืองหลวงและปริมณฑลที่เลวร้ายเกิดขึ้นติดต่อกันเกือบสัปดาห์ โดยในช่วงเช้าของวันที่ 21 ธ.ค.2561 กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อเวลา 08.00 น. ว่า มีพื้นที่ริมถนนอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 20 พื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่ทั่วไปอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 พื้นที่ ต่อมา ในวันที่ 23 ธ.ค. 2561 กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ PM 2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า พื้นที่ริมถนนอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 20 พื้นที่ ส่วนในพื้นที่ทั่วไปอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 16 พื้นที่ ในภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อวาน (22 ธ.ค.) มากนัก
สาเหตุมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยา ที่มีหมอกในตอนเช้า อากาศนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศในวันพรุ่งนี้ (24 ธ.ค.) จะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการห้ามใช้รถยนต์ที่มีควันดำอย่างเด็ดขาด งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จากนั้น ในวันถัดมา กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 25 ธ.ค. 2561 เวลา 15.00 น. พื้นที่ริมถนน เกินมาตรฐาน 13 พื้นที่ พื้นที่ทั่วไปเกินมาตรฐาน 5 พื้นที่
ความเลวร้ายของสภาพอากาศในกรุงเทพฯและปริมณฑล บอกได้คำเดียวว่าน่าเป็นห่วงสุขภาพคนเมืองจริงๆ เพราะปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่เกิดซ้ำๆ ซากๆ ทุกปีโดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวที่ทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองในหมอก(ควัน)
การสะสมของฝุ่นละอองในอากาศที่เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นเลวร้ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ การปรับปรุงถนน การก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย รวมไปถึงควันจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ในย่านที่มีการจราจรหนาแน่นในบางช่วงเวลา ประกอบกับสภาพอากาศแห้ง ยิ่งส่งผลให้เกิดฝุ่น ควัน และมลพิษในอากาศค่อนข้างสูง
สิ่งที่ กทม.ทำ คือ ขอความร่วมมือประชาชน ไม่ควรเผาขยะ และส่งเสริมการใช้เตาลดมลพิษในการประกอบการปิ้งย่าง รวมไปถึงผู้ที่ผู้ปฏิบัติงานเตาเผาศพ โดยต้องใช้เตาเผาศพให้เป็นไปตามมาตรฐานและถูกสุขลักษณะ เช่นเดียวกับ กรมควบคุมพิษ ที่ขอความร่วมมือประชาชน ในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถโดยสารและรถขนส่งงดใช้รถยนต์ที่มีควันดำอย่างเด็ดขาด
กทม.และกรมควบคุมมลพิษ ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการปัญหานี้คือ “ขอความร่วมมือ” แล้วจะได้ผลไหม? คำตอบก็รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่ได้ผล
ชำแหละต้นตอ สาวถึงตัวการใหญ่ก่อมลพิษ
หากจะสืบสาวถึงแหล่งกำเนิดสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นสูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ถึงเวลาก็มาตามนัดนั้น นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย สรุปไว้ คือ
หนึ่ง-ในเขตกทม.มีรถยนต์จดทะเบียนมากถึง 9.8 ล้านคันเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ล้านคัน ซึ่งทั้งหมดนี้เกินกดว่าพื้นที่ถนนที่รองรับได้ 4.4 เท่า..รถเครื่องยนต์ดีเซลถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดหลักของ PM 2.5
สอง-การจราจรที่ติดขัดทั้งวันมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกัน 8 สาย การก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่งและถนนต่างๆ ทั่วกทม.. รถยิ่งติดการเคลื่อนที่ช้ายิ่งปล่อยมลพิษทางอากาศออกมามากประกอบกับถ้าเป็นถนนแคบ มีตึกสูงทั้งสองข้าง มลพิษทางอากาศยิ่งรุนแรง
ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดมาตรฐานไอเสียของรถยนต์ทั่วไปคือยูโร 4 (มีค่ากำมะถันในน้ำมัน 50 PPM)เริ่มใช้ในปีในปี 2555 ซึ่งน่าจะทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่ทุกคนไม่เคยทราบคือรถยนต์ขนาดใหญ่ (Heavy duty vehicle) ซึ่งเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลเกือบทั้งหมดถูกกำหนดมาตรฐานไอเสียไว้เพียงระดับยูโร 3 เท่านั้น (ค่ากำมะถันในน้ำมัน 350 PPM) โดยบังคับใช้เมื่อพ.ศ. 2550 เป็นเวลา12 ปีแล้วยังไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น จะเห็นว่าบนท้องถนนมีรถบรรทุกทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รถหัวลาก และรถเมล์ รถโดยสารทางไกล เป็นต้น ปล่อยควันดำออกมาบ้าง..รถยนต์เหล่านี้เมื่อวิ่งผ่านเมืองในเวลากลางคืนหรือเวลาไม่เร่งด่วนจะปล่อยฝุ่นขนาดเล็กออกมาจำนวนมากสะสมอยู่ในพื้นราบ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ มีแนวคิดที่จะให้โรงกลั่นปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน 10 PPM) เหมือนกับในยุโรป และญี่ปุนในปี2565.. แต่ทุกวันนี้รัฐบาลยังเงียบอยู่
สาม-การก่อสร้างต่างๆ เช่น อาคารที่พักอาศัย การปรับปรุงถนนหนทางจะปล่อยฝุ่นขาดใหญ่คือ TSP หรือ PM 10 มากกว่าเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็น PM 2.5 และ 4.การเผาต่างๆในที่โล่ง เช่น เผาขยะมูลฝอย ร้านค้าปิ้งย่างริมถนน และโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งใหญ่และเล็กที่มีการเผาไหม้ ด้วยฟอสซิลจะปล่อยPM 2.5ออกมามาก
อันตรายของฝุ่นเล็ก สารก่อมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ
. อย่าได้เห็นว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน เป็นเรื่องขี้ผง เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอันตรายถึงตายกันเลยทีเดียว พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเตือนถึงผลกระทบว่า กลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ 1.เด็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ และ 2.กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด โรคปอด โรคถุงลมอักเสบ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ไม่ควรออกนอกอาคาร การอยู่กลางแจ้งควรหลีกเลี่ยงดีที่สุด หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ กลุ่มนี้ไม่ควรออกนอกอาคารในช่วงที่ทางกรมควบคุมมลพิษ ประกาศเตือนจะดีที่สุด แต่หากต้องออกไปและรู้สึกว่าไม่สบายตัว รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะมีความเสี่ยงโรคกำเริบได้
ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ ระบุว่า องค์กรอนามัยโลก หรือWHO กำหนดให้PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เมื่อปี 2556 เป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งนี้ จากการศึกษาองค์ประกอบของสารพิษที่อยู่ในฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ที่อยู่ริมถนนโดยใช้เครื่องมือ dichotomous Partisol samplers ดำเนินการโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัย Birmingham ทำการศึกษาในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา จีน บริเวณริมถนนที่มีการจราจรติดขัดเป็นประจำนั้น
ผลการศึกษา พบว่า1.ในฝุ่นขนาดเล็ก2.5 ไมครอนจะประกอบด้วย sulphate, nitrate, chloride, organic carbon, elemental carbon, iron and calcium.เป็นต้น โดยจะมีสารคาร์บอนด์,ซัลเฟตและไนเตรทรวมกันถึงร้อยละ 80 สำหรับสารคาร์บอนด์จะเป็นกลุ่มของสาร polycyclic aromatic hydrocarbons( PAHs)ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งมากที่สุด..จึงทำให้องค์การอนามัยโลกหรือWHO ได้กำหนดให้ PM 2.5 นี้เป็นสารกลุ่มที่1ของสารก่อมะเร็งในปี 2556
2.สำหรับซัลเฟต,ไนเตรท,แคลเซี่ยม เป็นสารอนินทรีย์ที่มาจากฝุ่นดินบนนถนน และเหล็กเป็นโลหะหนักมาจากการกัดกร่อนของเครื่องยนต์ ซึ่งทั้งหมดเป็นของแข็งที่ไม่ย่อยสลายและเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีความแข็งแทงทะลุเข้าไปในถุงลมปอดได้ หากเป็นฝุ่นขนาด1ไมครอนจะสามารถทะลุเข้าไปในเส้นเลือดและไหลไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย 3.เมื่อหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็กริมถนนเข้าไปปริมาณมากจึงมีโอกาส เป็นโรคมะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น ดังนั้น ประชาชนจึงต้องระวังสุขภาพเมื่อเดินหรืออยู่บนถนนโดยเฉพาะที่มีอาคารสูงสองข้างและการจราจรติดขัด ถนนข้างใต้สถานีรถไฟฟ้า ถนนที่มีการก่อสร้างต่างๆ ต้องใส่หน้ากากกันฝุ่น Model N-95 จะป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงร้อยละ 95 ขึ้นไป
ทางแก้ไข จะกล้าเอาจริงกันหรือยัง?
ดูเหมือนว่า ทส.จะรู้ว่าปัญหานี้ต้องวนมา จึงตั้งท่ารับมือตั้งแต่เดือนพ.ย. 2561 โดย พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมมอบนโยบายแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มากันพร้อมหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล โดย รมว.ทส. ประเมินว่าสถานการณ์ฝุ่นจิ๋วจะเกิดขึ้นยาวตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561 -เม.ย. 2562เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศนิ่ง ฝุ่นละอองจึงสะสม ไม่กระจายตัว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตามมาตรการระยะสั้น ป้องกันฝุ่นPM 2.5 ช่วง ม.ค.ถึง มี.ค.2562 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะรายงานข้อมูลฝุ่น PM 2.5 และแจ้งเตือนเป็นลำดับตามระดับสี ตั้งแต่สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ผ่านช่องทางทั้งเว็บไซด์ของภาครัฐและแอพพลิเคชั่นเพื่อให้หน่วยงานดำเนินงานตามมาตรการ ซึ่งจะเข้มข้นขึ้นตามระดับสี หากเป็นสีเหลืองจะแจ้งเตือนวันละ 1 ครั้ง ขอความร่วมมือควบคุม กำกับดูแล บังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิด เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ระดับสีส้มเป็นต้นไป จะเพิ่มการแจ้งเตือนเป็นวันละ 3 ครั้ง พร้อมแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงและลดการออกกำลังกายภายนอกอาคาร ชะลอหรือลดกิจกรรมการเกิดฝุ่นของแหล่งกำเนิด และให้จังหวัดจัดหน่วยลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง
และเมื่อสถานการณ์อยู่ในระดับสีแดง จะแนะนำให้ประชาชนงดการออกกำลังกายภายนอกอาคาร จนถึงการพิจารณาปิดโรงเรียนและงดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดมาตรการ ตรวจจับรถควันดำ ห้ามจอดริมถนน การควบคุมมลพิษจากโรงงาน การก่อสร้าง การเผาวัสดุการเกษตร ขยะชุมชน ควบคุมการระบายควันจากเตาเผาศพ การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในวันที่ฝุ่นสูง รวมถึงการปฏิบัติการทำฝนหลวงหากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังไม่คลี่คลาย ที่สำคัญคือ ขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้ยานพาหนะ ส่วนมาตรการระยะยาวจะเดินหน้าการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหามลพิษอากาศ มีกำหนดปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ในปี 2566
“การป้องกันฝุ่น PM 2.5 ปีนี้เป็นปีแรกที่มีมาตรการดูแลสุขภาพคนไทยอย่างจริงจัง ถ้าตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กพบเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่บริเวณใดติดต่อกันถึง 3 วัน ซึ่งอยู่ในระดับวิกฤตมาก ประชาชนดำรงชีวิตด้วยความลำบาก เพราะค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัม จะใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุขปี 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2561 ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญเพื่อหยุดมลพิษทั้งหมด สามารถระงับการก่อสร้างที่เป็นต้นกำเนิดฝุ่นชั่วขณะ " รมว.ทส. กล่าวถึงวางแนวทางแก้ไขปัญหา
ถึงเวลานี้ ปัญหาถึงขนาดที่จะต้องประกาศพื้นที่เหตุรำคาญหรือไม่ ดูท่าทั้ง ทส. และ กทม. รวมถึงกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังไม่ขยับ หรือต้องรอให้วิกฤตกว่านี้ มีคนเจ็บป่วยล้มตายให้เห็นกันเสียก่อน การรั้งรอยังไม่ประกาศคุมพื้นที่จนกว่า “...พบเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร...” ดังที่ รมว.ทส. วางไว้ ซึ่งวิกฤตมากแล้วจะสายเกินไปไหม?
นายสนธิ เล่าให้ฟังถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 กับ “พื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ” ว่า 1.หากปัญหาฝุ่นละอองขนาด2.5ไมครอนในเขตกทม.มีความรุนแรงที่อาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนเนื่องจากสภาพอากาศปิดเป็นเวลาหลายวันและเพื่อต้องการลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยให้มากที่สุด กทม.สามารถประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามความในมาตรา 28/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้เพื่อผู้ว่ากทม.จะได้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุขจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษและสามารถยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญได้เมื่อฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหากกิจกรรมหรือผู้ประกอบการใดฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.เมื่อประกาศแล้วจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการป้องกันระงับเหตุรำคาญในพื้นที่ที่ประกาศควบคุมเหตุรำคาญ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยขอบเขตพื้นที่ที่เห็นควรควบคุม ประเภทสถานประกอบกิจการ หรือการกระทำใดๆ ที่ต้องควบคุม และมาตรการป้องกันหรือระงับเหตุรำคาญ ทั้งนี้อาจให้สถานประกอบกิจการหรือผู้ก่อเหตุรำคาญรายงานผลการดำเนินงานตามประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญได้
3.กรณีฝุ่นละออง PM 2.5ในเขตกทม.เกินมาตรฐานมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย.กทม.สามารถประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญและเชิญหน่วยงานราชการมาร่วมบูรณาการทำแผนปฎิบัติการ (Action plans) ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษเช่น ห้ามเผาในที่โล่งในเขตกทม.และปริมณฑล ห้ามรถยนต์ขนาดใหญ่บางประเภทวิ่งเข้าเมือง ตรวจจับควันดำ ควบคุมการใช้เชื้อเพลิงสำหรับโรง งานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด กวดขันร้านปิ้งย่างหรือเผาอาหารริมถนน ควบคุมการใช้เชื้อเพลิงเตาเผาขยะและเตาเผาศพ เป็นต้น โดยพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเต็มในการควบคุมกำกับดูแลทั้งหมด
“อาชีพที่น่าสงสารคือพ่อค้าแม่ค้ารินถนน เช่น ประตูน้ำ เยาวราช ลาดพร้าว สีลม เป็นต้น รับฝุ่นวันละ 8 ชั่วโมงจะใส่หน้ากากN-95 ทั้งวันก็ไม่ไหว ตอนนี้หน้ากากขึ้นราคาจากอันละ39บาทเป็น129บาทไปแล้วครับ... “กทม.จะกล้าประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญหรือไม่..กรมอนามัย ผู้ออกกฎหมายว่าไง..”
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาที่อาจเป็นไปได้ ในมาตรการระยะสั้น นอกจากการแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ประชาชนทราบให้ประชาชนใช้หน้ากาก N-95, ห้ามรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่เช่นสิบล้อขึ้นไปวิ่งผ่านตัวเมืองในช่วงเวลา05.00-21.00น., เข้มงวดเรื่องการเผาในที่โล่งทั้งขยะมูลฝอยและปิ้ง ย่าง ต่างๆ และกทม. ล้างถนนทั้งกลางวันและกลางคืน, กวดขันสถานประกอบการให้ปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษระยะสั้นตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมหรือประกาศเป็นเขตควบคุมเหตุรำคาญตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขให้กทม.เป็นเจ้าภาพบูรณาการทุกหน่วยงานราชการแก้ไข
สำหรับมาตรการระยะยาว เช่น เมื่อระบบขนส่งมวลชนครบต้องลดปริมาณรถยนต์ลง หรือถ้าไม่มีที่จอดรถยนต์มาแสดงห้ามจดทะบียนทั้งรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่, บังคับให้รถเครื่องยนต์ดีเซลใช้น้ำมันEuro 4 มีกำมะถันน้อย, แก้ปัญหาการจราจรติดขัด, เข้มงวดเรื่องการตรวจสภาพรถยนต์, เร่งและส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น เจ้าภาพร่วมทั้งกทม., ทส. และ สธ. จะลงมือจัดการอย่างจริงจังทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวได้หรือยัง เพราะตอนนี้ ยังไม่เห็นมาตรการอะไรที่ไปไกลกว่าการแจ้งเตือนและขอความร่วมมือบวกกับการสร้างภาพล้างถนน ฉีดพ่นน้ำ ที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสุขภาพอนามัยประชาชน โดยกำชับให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขบรรเทาปัญหาทั้งเฉพาะหน้า และวางแผนป้องกันในระยะยาว ล่าสุด กทม.สั่งการให้ 50 เขต ล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่การจราจรหนาแน่น และยังบูรณาการทุกหน่วยเข้ามาดำเนินการร่วมกัน คาดว่า 2-3 วันนี้ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
บทเรียนจากกรุงนิวเดลี อินเดีย ฟ้องร้องรัฐบาลละเลยแก้ไข
เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างมีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก อย่างประเทศจีนทั้งพื้นที่เมืองหลวงปักกิ่ง ที่เผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่เวลานี้ทางการจีนได้งัดมาตรการคุมเข้มทั้งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระงับโครงการก่อสร้างทั้งหมดในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหา จนกระทั่งสามารถทำให้กรุงปักกิ่งได้มาตรฐานคุณภาพครั้งแรกเมื่อเดือนม.ค. 2561 เฉลี่ยที่ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งได้มาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติที่ 35 มคก./ลบ.ม. เป็นครั้งแรก ขณะที่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว ค่าฝุ่นละอองเคยพุ่งเกินมาตรฐานในระดับสีแดง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนเมือง
แต่สำหรับกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ที่ประสบปัญหาหมอกควันในช่วงฤดูหนาวทุกปี โดยมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก(กำหนดมาตรฐานที่ 25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม) ซึ่งในช่วงฤดูหนาว ปีนี้พบว่าในเดือนธ.ค. 2561 มีค่ามลพิษทางอากาศสูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยไม่ต่ำกว่า 30 เท่า โดยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สถานทูตของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา พบมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือPM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานถึง 290 จุด หรือมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกเกือบ 12 เท่า
ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนและหน่วยงานภาคประชาชนได้ฟ้องร้องรัฐบาล โดยเมื่อต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของอินเดีย ได้ตัดสินสั่งปรับหน่วยงานบริหารกรุงนิวเดลี เป็นจำนวนเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 115 ล้านบาท ฐานไม่ทำการบังคับใช้กฎระเบียบลดหมอกควันพิษอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จากการประเมินที่ผ่านมาพบว่า แต่ละปีจะมีชาวอินเดียเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษในอากาศสูงถึง 1.1 ล้านคน อีกทั้งจาการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลก พบว่า13 เมืองของอินเดียจากทั้งหมด 20 เมืองทั่วโลกที่มีค่ามลพิษสูงที่สุด
สำหรับประเทศไทย รายงานธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศก่อนวัยอันควรถึง 50,000 คนต่อปี
https://mgronline.com/daily/detail/9610000128681
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น