วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ทำไมตากฝนแล้วจึง เป็นหวัด

เคยสงสัยไหมว่า เวลาตากฝน โดยเฉพาะเวลาศีรษะเปียกฝน แล้ววันต่อมา เริ่มมีอาการของหวัด เช่น มีอาการจาม คัดจมูก หรือมีน้ำมูก เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเรา


โรคหวัด ก็คือ โพรงจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากไวรัส มีไวรัสเป็นร้อยชนิด ที่ทำให้เกิดไข้หวัดได้ ไวรัสเหล่านี้ กระจายฟุ้งอยู่ในอากาศ แล้วก็ตกลงอยู่ทีพื้น หรือเกาะอยู่ตามฝุ่น ไวรัสเหล่านี้ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ในช่วงปกติ เราก็จะสัมผัสกับไวรัสเหล่านี้อยู่บ้าง แต่เนื่องจากปริมาณมีไม่สูง รวมทั้งภูมิต้านทานของร่างกาย และสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เราจึงไม่เป็นโรคหวัด


ก่อนฝนตก มักจะมีกระแสลมที่แรง ลมเหล่านี้ จะพัดให้ไวรัสฟุ้งกระจายปริมาณมาก หากเราอยู่ในบริเวณนั้น ก่อนฝนตก โอกาสที่จะสัมผัสไวรัสในปริมาณมากก็มีมากขึ้น ดังนั้น พยายามอย่าอยู่ในที่โล่งแจ้งโดยเฉพาะเวลาก่อนฝนตก หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูก ในช่วงเวลานั้นก็ได้ครับ


ไวรัสไม่ได้เข้าทางศีรษะแต่เราเป็นหวัดได้ไงนะ?


หากเราตากฝน ศีรษะของเราก็จะเปียกฝน เชื้อโรคไม่ได้เข้าทางศีรษะนะครับ แต่การที่ศีรษะเปียกฝน จะมีผลทำให้อุณภูมิที่พื้นผิวของเยื่อบุจมูกลดต่ำลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิระดับนี้ เหมาะสมสำหรับการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสที่ตกค้างอยู่ในช่องจมูก ประกอบกับการสัมผัสเชื้อไวรัสปริมาณมากช่วงก่อนฝนตก ก็เลยทำให้มีไวรัสจำนวนมากบริเวณเยื่อบุจมูก ภูมิต้านทานของร่างกาย จึงไม่อาจต้านทานเชื้อเหล่านี้ได้อีกต่อไป ก็เลยเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก เกิดอาการบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้คัดจมูก รวมทั้งเกิดการสร้างสารคัดหลั่งมากขึ้น ซึ่งก็คือ “น้ำมูก” นั่นเอง หากเชื้อไวรัสลุกลามไปที่ลำคอ ก็จะทำให้เกิดคออักเสบตามมาได้


นอกจากศีรษะที่เปียกฝน ที่มีผลต่ออุณหภูมิในจมูกแล้ว อุณหภูมิบริเวณมือและเท้า ก็มีผลด้วยเช่นเดียวกัน การที่รองเท้าเราเปียกน้ำ และต้องแช่อยู่ในนั้นนานๆ ก็มีผลทำให้อุณภูมิในจมูกลดลง นำไปสู่อาการเป็นหวัดได้

จะเห็นว่าสาเหตุของการที่เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้มากขึ้นแค่ไหน ขึ้นกับสภาพของร่างกายเราด้วยในสภาพแวดล้อมต่างๆกัน สภาพแวดล้อมไหนที่มีผลต่อร่างกายทั้งทางตรงทางอ้อม ก็จะไปมีผลทำให้เชื้อโรคเติบโตได้มากขึ้น ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยได้มากขึ้น

เชื้อไวรัสไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนเสียชีวิตหรือไม่?

จากระเบียนสถิติพบว่า คนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเสียชีวิตไม่มาก อย่างไรก็ตาม การที่คนเป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีสภาพภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสสู่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อโรคประเภทอื่น โดยเฉพาะ เชื้อแบคทีเรียปอดบวม อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูง 

เราจึงความป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ให้มากที่สุด หรือเป็นให้น้อยวัน เพื่อลดการเกิดเชื้อโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะในเด็ก และผู้สูงอายุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น