"เมิร์ส" (MERS) คือชื่อเรียกสั้นๆ จากคำเรียกชื่อโรคเต็มๆ ว่า "โรคระบบทางเดินหายใจจากตะวันออกกลาง" (Middle East Respiratory Syndrome-MERS) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ตระกูล โคโรนา ไวรัส เช่นเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค "ซาร์ส" (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) บางครั้งจึงเรียกกันว่า "โคโรนา ไวรัส เมิร์ส" บางครั้งก็เรียกกันง่ายๆ ว่า "โรคคล้ายซาร์ส"
องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า เชื้อนี้ทำให้คนตาย 38 รายจาก 64 รายที่ตรวจยืนยันเชื้อได้ = โอกาสตาย 38/64 = 50% = 2 รายตาย 1 ราย
. ไข้หวัดใหญ่ซาส์ (SARS) กับมาร์ส (MARS) มีอะไรที่คล้ายกันหลายอย่าง โดยเฉพาะการติดเชื้อในโรงพยาบาล
. ความต่างกัน คือ โอกาสตายไวรัสทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือไวรัสใหม่ "เมิร์ส / MERS" สูงกว่ามาก คือ
SARS / ซาส์ = 8%
MERS / เมิร์ส = 48%
เมิร์ส เป็นโรคอุบัติใหม่ พบครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2012 ที่อัล อาห์ซา เมืองโอเอซิส กลางทะเลทรายทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย ต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน มีชายวัย 60 ปี รายหนึ่งเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลในเมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ด้วยอาการของนิวมอเนียและไตวายดร.อาลี โมฮัมเหม็ด ซากี นักไวรัสวิทยาชาวอียิปต์ นำตัวอย่างจากปอดของชายผู้นี้ไปเพาะเชื้อพิสูจน์ และพบไวรัสใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักกันมาก่อนในนั้น โลกได้รู้จัก "เมิร์ส" มานับตั้งแต่บัดนั้น เมิร์ส และ ซาร์ส เป็นไวรัสในกลุ่มโคโรนาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อให้เกิดอาการหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ คือมีไข้สูงเหมือนไข้หวัดใหญ่ ไอ หายหอบถี่ เมื่อไวรัสเมิร์สแพร่เข้าสู่ปอด สิ่งที่มันทำก็คือ ทำให้การทำหน้าที่ทั้งหมดของปอดหยุดชะงัก ผู้ป่วยจะทรุดหนักและแสดงอาการนิวมอเนียตามมา อาการรุนแรงชนิดจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยยังชีพภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 12 วัน สิ่งที่แตกต่างออกไปจากไวรัสซาร์ส และเป็นเหตุผลที่ทำให้ เมิร์ส มีอานุภาพในการทำลายชีวิตสูงกว่าก็คือ ไวรัสเมิร์ส สามารถแพร่และส่งผลทำลายการทำงานของอวัยวะภายในอื่นๆ นอกเหนือจากอวัยวะในระบบทางเดินหายใจด้วย ผู้ป่วยอาจแสดงอาการเกี่ยวเนื่องกับกระเพาะอาหารและลำไส้ อาทิ ท้องร่วงรุนแรง อาเจียน ที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ มันเข้าไปทำลายการทำงานของไต ส่งผลให้เกิดสภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือไตวาย ถึงเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน แล้วก็ทำให้มันสามารถแพร่ระบาดได้จากของเสียที่ร่างกายของคนเราขับออกมา อาทิ อุจจาระ ปัสสาวะ ได้ด้วยเช่นเดียวกันกับการแพร่ระบาดทางอากาศ
จนถึงขณะนี้มีผู้ล้มป่วยด้วย โคโรนา ไวรัส เมิร์ส แล้วทั่วโลกมากกว่า 500 ราย 345 ราย ในจำนวนนั้นเป็นผู้ป่วยใน ซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด และแพร่ระบาดหนักที่สุดในเวลานี้ ในจำนวนกว่า 100 ราย ที่พบนอกซาอุดีอาระเบีย แทบทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกลับไปยังที่นั่นได้ทั้งหมด คือ หากไม่เคยทำงานอยู่ที่นั่นก็ต้องเคยเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียมา เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างเมิร์สกับซาร์ส พบว่าผู้ป่วยเมิร์สราว 27-31 เปอร์เซ็นต์ ถึงแก่ชีวิต ในขณะที่ซาร์ส ทำให้เสียชีวิตเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด หรือพูดง่ายๆ ว่า "เมิร์ส" ร้ายแรงกว่า ซาร์ส ที่เคยเขย่าโลกมาเมื่อปี 2002-2003 ราว 3 เท่าตัวนั่นเอง!
จนถึงขณะนี้ มีประเทศซึ่งพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นผู้ป่วยด้วยโรคเมิร์สรวม 17 ประเทศ สามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด คือในคาบสมุทรอาหรับ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรดส์ (ยูเออี) กาตาร์ โอมาน จอร์แดน คูเวต และเยเมน อีกกลุ่มเป็นประเทศที่พบผู้ป่วยมีส่วนเชื่อมโยงกับการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มแรก ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ตูนิเซีย อิตาลี มาเลเซีย ตุรกี กรีซ ฟิลิปปินส์ อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเมิร์สในเวลานี้ก็คือ เมิร์ส ถูกพบครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ไม่ได้สร้างความกังวลในแง่ของโอกาสที่มันจะกลายเป็นโรคระบาดในระดับโลกมาตลอดทั้งปี 2013 ตราบจนกระทั่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดจนผิดสังเกตนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในซาอุดีอาระเบีย ตัวอย่างของการเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดดังกล่าวนี้ เห็นได้ชัดในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีผู้ป่วยเมิร์สเพิ่มมากขึ้นถึง 49 ราย ยิ่งไปกว่านั้น สถิติแสดงให้เห็นว่า ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม จนกระทั่งถึงวันที่ 26 เมษายน 29 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยเมิร์ส ล้วนแต่เป็นบรรดาผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานพยาบาล ดร.อลา อัลวาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคอีสเทิร์น เมดิเตอเรเนียน บอกในเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเองว่า ราวๆ 75 เปอร์เซ็นต์ ของรายงานการพบผู้ป่วยเมิร์สในระยะหลัง จัดได้ว่าเป็น "เซคคันดารี เคส" คือผู้ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยเมิร์สรายอื่นๆ
"ส่วนใหญ่ของเคสผู้ติดเชื้อชั้นที่สองนี้ ได้รับเชื้อจากภายในสถานรักษาพยาบาล ที่เป็นหลักคือผู้ที่เคยทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ก็มีไม่น้อยที่ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคอื่น แต่กลับได้รับเชื้อเมิร์สจากที่นั่น" ดร.อัลวานระบุ
เครดิตระบบสาธารณสุขของของซาอุดีอาระเบียสะเทือนอย่างหนัก ลงเอยด้วยคำสั่งปลด อับดุลลาห์ อัล ราบีอาห์ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข เมื่อ 21 เมษายนที่ผ่านมา มอบหมายให้ อัลเดล ฟาคคีห์ รัฐมนตรีแรงงาน มารับตำแหน่งควบอีกตำแหน่ง แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบของคำถามสำคัญที่ว่า ไวรัสเมิร์ส กลายพันธุ์แล้วใช่หรือไม่ ถึงได้ติดต่อง่ายขึ้นและแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นเช่นนั้น? ในวันที่ 26 เมษายน ทีมผู้เชี่ยวชาญของห้องปฏิบัติการในเยอรมนี นำเอาเชื้อไวรัสที่ได้จากผู้ป่วย 3 รายในกลุ่มของผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปตรวจวิเคราะห์เชิงพันธุกรรมจนแล้วเสร็จ สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า องค์ประกอบทางพันธุกรรมของเชื้อเหล่านั้น ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากไวรัสเมิร์สที่เคยระบาดก่อนหน้านี้
ถ้าอย่างนั้นแล้ว เพราะเหตุใด เมิร์ส ถึงได้มาระบาดหนักเอาตอนนี้? คำถามนี้หาคำตอบได้ไม่ง่ายนัก ด้วยข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า ซาอุดีอาระเบีย ขาดแคลนทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหล่านี้ และขาดแคลนทั้งประสบการณ์ในการรับมือกับ "การแพร่ระบาด" พร้อมกันไปด้วย มีความพยายามให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศอยู่เช่นเดียวกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ นักไวรัสวิทยาที่พยายามช่วยเหลือต่างพากันผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะซาอุฯไม่มี "ข้อมูล" ที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวให้ ตัวอย่างเช่น ไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องอาชีพของผู้ป่วย ไม่มีบันทึกรายละเอียดของการเดินทางของผู้ติดเชื้อก่อนหน้าการติดเชื้อ ไม่มีรายละเอียดของการสัมผัส "พาหะ" ต้องสงสัย ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่า ซาอุดีอาระเบียทำสิ่งที่เรียกกันว่า การสอบสวนโรคน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ ผลก็คือข่าวลือในทางเสียๆ หายๆ สะพัดไปทั่วประเทศ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ หรือทางการพยายามปกปิด เรื่อยไปจนถึงการละเลยบันทึกการรักษา หายหกตกหล่น ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2002-2003 หลายฝ่ายเคยกล่าวหาจีนว่าปกปิดข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับซาร์ส จนแทบทำให้สายเกินการ คราวนี้ทุกฝ่าย แม้องค์การอนามัยโลกเองก็เผชิญกับอุปสรรคอีกอย่าง นั่นคือความไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ปัญหาก็คือในกรณีอย่างนี้ ทั้งการปกปิดและความไม่รู้ มักลงเอยด้วยผลลัพธ์อย่างเดียวกัน!
ในกรณีของโรคซาร์ส ต้นตอของการแพร่ระบาด หรือ "พาหะปฐมภูมิ" ของโรคคือ ค้างคาวผลไม้ชนิดหนึ่งในจีน ที่สามารถรับเชื้อไว้ในร่างกายของมันได้โดยไม่แสดงอาการ จากนั้นมันแพร่ระบาดต่อให้กับ "ชะมด" ผ่านตลาดค้าสัตว์ป่าเป็นแห่งหนึ่งที่กว่างโจว จากชะมดไวรัสซาร์สระบาดสู่คนผ่านทางภัตตาคาร "อาหารพิสดาร" แห่งหนึ่ง ซึ่งเสิร์ฟเนื้อชะมดเป็นอาหารขึ้นชื่อ
นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานมากเพียงพอที่จะสรุปว่า "พาหะปฐมภูมิ" หรือ "ไพรมารี โฮสต์" ของเมิร์ส ก็เป็นค้างคาวเช่นเดียวกัน แต่เป็นค้างคาวผลไม้อีกพันธุ์ที่เรียกกันว่า "ค้างคาวสุสานอียิปต์" (Egypt tombbat) ต้นเดือนเมษายนปีนี้ ทีมวิจัยผสมหลากหลายชาติทีมหนึ่งตีพิมพ์ผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ออกเผยแพร่ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า แหล่งกำเนิดโรคเมิร์ส คือ อัล อาห์ซา โอเอซิส ทางตะวันออกของประเทศที่เป็นแหล่งปลูกอินทผลัมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง อินทผลัม (Date Palm)คือสถานที่สร้างรังของค้างคาวสุสานอียิปต์ครับ จากรังบนยอดสุดของต้นอินทผลัม ไวรัส เมิร์ส ในตัวค้างคาว ระบาดสู่คนได้ในสองทาง ทางแรกที่ก่อให้เกิดการระบาด กระจัดกระจายและมีจำนวนน้อย แต่ก็มีกรณียืนยันได้หลายกรณี ก็คือ เชื้อไวรัสจากค้างคาวผ่านเข้าสู่ "อูฐ" ด้วยวิธีการประการหนึ่งประการใดที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จากนั้นจึงผ่านสู่คนโดยวิธีการสัมผัสตัวอูฐติดเชื้อ หรือเข้าไปใกล้ชิดในโรงเลี้ยง หรือดื่มน้ำนมอูฐที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปโดยตรง ผู้แสวงบุญชาวมาเลเซียที่เสียชีวิตลงเพราะเมิร์สรายหนึ่ง เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มอูฐแห่งหนึ่ง ขณะจาริกแสวงบุญยังซาอุดีอาระเบีย ทั้งยังดื่มนมอูฐเข้าไปด้วยก่อนล้มป่วยด้วยโรคนี้ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พ่อค้าปศุสัตว์จากอาบูดาบี (ยูเออี) รายหนึ่งป่วยด้วยเมิร์ส หลังเยี่ยมชมฟาร์มอูฐเช่นกัน ผู้ป่วยชาวซาอุฯ ผู้หนึ่งถูกเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจสอบพบว่า พันธุกรรมของเชื้อไวรัสเมิร์สในตัวเขาตรงกันเป๊ะกับพันธุกรรมของไวรัสเมิร์สในอูฐเลี้ยงของเจ้าตัว ที่สำคัญก็คือ มีการเก็บตัวอย่างนมอูฐไปตรวจสอบ พบว่ามีตัวอย่างเป็นจำนวนมากปนเปื้อนเชื้อไวรัสเมิร์ส!
ทางที่สองที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสเมิร์สในตัวค้างคาวสุสานมาสู่คน เป็นการแพร่ระบาดโดยตรงจากค้างคาวสู่คน ผ่านทางมูลและฉี่ หรือของเสียหรือเมือกอื่นๆ ที่ขับออกมาจากตัวมันสู่คน ซึ่งในที่นี้คือคนงานที่รับผิดชอบในการทำสวนผลไม้ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของซาอุดีอาระเบียนี้ คนงานซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนำเข้าจากต่างประเทศ อินทผลัม เป็นไม้สวนที่จำเป็นต้องดูแลอย่างดี เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด เมื่อถึงฤดูกาลออกดอกคนงานสวนจะต้องไต่เดียะขึ้นไปตามต้นของมันทุกต้น เพื่อทำหน้าที่ผสมเกสรตัวผู้เข้ากับเกสรตัวเมีย ให้ได้ครบถ้วนเพื่อให้ติดผลมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ น่าสนใจอย่างยิ่งที่ฤดูกาลผสมเกสรของคนงานสวนอินทผลัมที่อัล อาห์ซา เริ่มต้นตั้งแต่ปลายมีนาคมเรื่อยมาจนถึงเมษายนนี้นี่เอง ในขณะที่เมษาและพฤษภา คือฤดูกาลผสมพันธุ์ของค้างคาวชนิดนี้ ลูกตัวน้อยๆ ของมันจะลืมตาดูโลกในราวเดือนมิถุนายน นี่คือเหตุผลหนึ่งที่สันนิษฐานกันว่า เป็นเหตุให้จำนวนผู้ป่วยเมิร์สในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดในเดือนที่ผ่านมา ข้อกังขาก็คือว่า แล้วอย่างนั้น ทำไมเมษาปีที่แล้วถึงไม่เกิดกรณีเดียวกันนี้ขึ้น?
คำตอบก็คือ เมื่อปีที่แล้ว ทางการซาอุดีอาระเบียเพิ่งผ่านกฎหมายแรงงานใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิมออกมาบังคับใช้ ที่ส่งผลให้แรงงานต่างชาติเป็นเรือนหมื่นต้องถูกเด้งออกนอกประเทศ แรงงานภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด อินทผลัมปีที่ผ่านมาน้อยกว่าปกติและแพงกว่าปกติมาก จนต้องผ่อนเป็นครั้งๆ ครั้งละ 30 วันกันในตอนนี้ ในเดือนมิถุนายน คนงานสวนจะได้สัมผัสกับอินทผลัมตั้งแต่โคนจนถึงยอดสุดอีกครั้ง ตอนนั้น ดอกที่ติดเป็นผลจะโตเต็มที่คนงานจะต้องขึ้นไปจัดการไล่ทั้งค้างคาวและศัตรูพืชอื่นๆ พร้อมกับครอบพวงอินทผลัมด้วยตาข่ายป้องกัน ก่อนที่จะต้องปีนขึ้นไปเพื่อเก็บเกี่ยวผลกันอีกครั้งในหน้าร้อน ถ้าข้อสันนิษฐานนี้ไม่ผิด และยังไม่มีมาตรการคุ้มกันใดๆ เมิร์สจะระบาดอีกครั้งในสองช่วงเวลานั้น!
เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น แบบแผนการรับมือกับเมิร์สก็เปลี่ยนตามไปด้วย ผู้ป่วยเมิร์สทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายสู่โรงพยาบาลคิง ซาอุด ทางตอนเหนือของนครเจดดาห์ เพื่อดูแลผู้ป่วยภายใต้สภาวะควบคุมการติดเชื้อเข้มงวดทั้งหมด ก่อนหน้านั้น สถานการณ์ในโรงพยาบาลหลายๆ แห่งเป็นเหมือนฝันร้ายของทุกคน ไม่เว้นกระทั่งหมอและพยาบาล เมื่อ 1 เมษายน ที่โรงพยาบาล คิง ฟาฮัด ในเจดดาห์เช่นเดียวกัน แพทย์ 1 พยาบาลอีก 6 คน ล้มป่วยด้วยเมิร์ส สร้างความโกลาหลไปทั่วโรงพยาบาล สาหัสถึงขั้นแพทย์และพยาบาลบางคนยื่นใบลาออก ! ทั้งหมดสะท้อนการขาดความชำนาญการ ขาดองค์ความรู้และประสบการณ์อย่างเด่นชัด ทางการยังยืนยันใน "มาตรฐานสากล" ของโรงพยาบาลในวันที่ 15 เมษายน แต่อีก 6 วันให้หลังจำนวนผู้ป่วยเฉพาะในเจดดาห์เพิ่มขึ้นอีก 49 ราย แทบทั้งหมดติดเชื้อจากคนสู่คนทั้งสิ้น
ตัวอย่างความไร้เดียงสาของผู้เชี่ยวชาญซาอุดีอาระเบียก็คือ การยืนกรานว่า เพียงแค่สวมหน้ากากปิดปากปิดจมูก ก็ป้องกันเมิร์สได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ข้อเท็จจริงก็คือ เมิร์ส แพร่ได้แม้การสัมผัสมือ สัมผัสพื้นผิวที่เปื้อนเชื้อ ผ่านสเตรทโตสโคป กระทั่งถุงมือยาง เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่ผ่าน "สงครามซาร์ส" มาล้วนซาบซึ้งเรื่องนี้เป็นอย่างดี ที่เวียดนาม ซาร์ส ไม่หยุดระบาดจนกระทั่ง ผู้ป่วยทั้งหมดถูกย้ายออกจากโรงพยาบาลหรู "เฟรนซ์ ฮอสพิทัล" ติดแอร์ทั้งหลัง ไปอยู่โรงพยาบาล บัคมาย เก่าๆ สมัยสงคราม หน้าต่างเปิดโล่ง มีเพียงพัดลมเพดานระบายอากาศเท่านั้น แต่ไม่มีสภาพอากาศปิดให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้ออีกต่อไป!
คําถามสุดท้ายที่ต้องถามกันก็คือ "เมิร์ส" มีโอกาสระบาดไปทั่วโลกเหมือน "ซาร์ส" หรือไม่? คำตอบเมื่อเทียบเคียงซาอุดีอาระเบียเข้ากับจีนแล้วก็คือ มี มีไม่น้อยเลยทีเดียว โอกาสอาจน้อยลงกว่านี้ถ้าซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศยากจนสักประเทศในแอฟริกา หรือละติน แต่นี่คือประเทศมั่งคั่ง มีการติดต่อไปมาหาสู่ มีคนงานต่างชาติเข้าไปทำงานอยู่มากมายจากหลากหลายประเทศ ทั้งยังมีเมกกะ... ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรถึงจะจำกัดไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นใน 31 ประเทศ มีผู้ป่วยกว่า 8,000 รายเหมือนในกรณีของซาร์ส อย่าลืมว่า "เมิร์ส" ร้ายแรงกว่า ซาร์ส อย่างน้อย 3 เท่าตัวนะครับ!
http://www.pharmacafe.com/board/viewtopic.php?f=2&t=52116&sid=693f75093c38ae5b16beb8b743691774
http://www.matichon.co.th/news_detail.p ... catid=0200
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น