วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis ติดต่อสู่คน โดยสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป โดยเชื้อชนิดนี้ทนอากาศแห้งได้และแฝงอยู่ในฝุ่นละอองได้นาน
วัณโรคมักเป็นที่ปอดมากกว่าที่อื่น เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนังและเยื่อหุ้มสมอง โดยวัณโรคปอด มักพบในผู้สูงอายุ ผู้มีร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น เอดส์ หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน
องค์การอนามัยโลก จัดไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศมีปัญหาวัณโรค ซึ่งโรคนี้ยังถือเป็นโรคที่ดื้อยาในหลายขนาน แต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 13,800 คน
ที่สำคัญคาดว่า ผู้ป่วยมีอาการดื้อยาหลายขนานมากถึง 4,500 คน ที่เข้ารักษา ปัจจุบันมีวัณโรคดื้อยาหลายขนาน หมายถึง เชื้อวัณโรคที่พัฒนาการดื้อต่อยาอย่างน้อย 2 ชนิด
ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ในการตรวจค้นพบผู้ป่วย ทำให้ทราบผลรวดเร็วขึ้นจาก 6-8 สัปดาห์ เป็นภายใน 1 สัปดาห์ ว่าเชื้อวัณโรคดื้อยาหรือไม่ ทำให้แพทย์เลือกใช้ยาและปรับชนิด-ขนาดยารักษาได้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดียิ่งขึ้น และลดเกิดผลข้างเคียงจากยา นอกจากนี้ ยังลดโอกาสเกิดการดื้อยาของผู้ป่วยบางรายได้ด้วย
การค้นหาผู้ป่วยและรีบรักษาทันทีนั้น ถือว่าเป็นการป้องกันการแพร่กระจายที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยวัณโรคดื้อยา ได้แก่ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ผู้ต้องขัง ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยวัณโรคที่กลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยวัณโรคที่ขาดยาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังรักษาและผลรักษาไม่ดีขึ้น
ยาในปัจจุบันนับว่ามีประสิทธิภาพแต่ต้องใช้หลายชนิดจึงจะฆ่าเชื้อได้และการรักษาที่ได้ผล จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อย 6-9 เดือน ในกรณีเป็นวัณโรคดื้อยาอาจต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี
การรักษาจะได้ผลดี จะต้องรีบรักษาตั้งแต่เริ่มแรกและต้องดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารมีโปรตีนสูงและวิตามิน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้
ขณะผู้ที่เป็นในระยะที่เริ่มรักษาโดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กและคนชรา รวมถึงเดินทางในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด หลีกเลี่ยงเดินทางด้วยยานพาหนะผู้อื่นในระยะเวลานาน ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงขึ้นไปด้วย เพื่อป้องกันวัณโรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้
องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เป้าหมายในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของวัณโรคให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามเเนวนโยบายว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ มีความคืบหน้ามากขึ้น
และองค์การอนามัยโลกหรือ WHO รายงานว่า ตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา งานปราบปรามวัณโรคได้ช่วยรักษาชีวิตคนไว้ได้ 49 ล้านคนทั่วโลก แต่ได้ย้ำด้วยว่ายังมีงานต้องทำอีกมาก
ข้อมูลตัวเลขจากปี 2015 ชี้ว่า มีคนมากกว่า 10 ล้าน 4 แสนคนล้มป่วยด้วยวัณโรคทั่วโลก และเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ล้าน 8 เเสนคน โดยผู้ติดเชื้อเเละเสียชีวิตส่วนมากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยเชื้อวัณโรคทั่วโลก อยู่ในหกชาติ ได้เเก่ อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ไนจีเรีย ปากีสถาน และแอฟริกาใต้
บรรดาแพทย์ได้เตือนถึงปัญหาวัณโรคดื้อยาชนิดใหม่ และย้ำว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะบำบัดวัณโรคด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวัณโรคดื้อยาสายพันธุ์ใหม่
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกชี้ว่าทัศนคติทางลบทางสังคม เเละความรังเกียจต่อผู้ป่วยวัณโรค เป็นอุปสรรคต่องานปราบปรามวัณโรค
Ernesto Jaramillo เจ้าหน้าที่การแพทย์ประจำโครงการ Global TB ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "คนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค อาทิ ผู้อพยพย้ายถิ่น ผู้ต้องขัง คนกลุ่มน้อย ผู้หญิงเเละเด็กยากจน เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงมากที่สุดต่อการเอาเปรียบ ถูกสังคมละเลยเเละถูกปฏิเสธ ปัญหานี้ทำให้คนเหล่านี้ไม่เข้ารับการรักษาวัณโรค"
Jaramillo เจ้าหน้าที่การแพทย์ประจำโครงการ Global TB แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า "การมีอุปกรณ์ใหม่ๆ ใช้ในการวินิจฉัยและบำบัดวัณโรคยังไม่เพียงพอ หากยังขาดมาตรฐานที่ชัดเจน ในการสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดวัณโรคเหล่านี้เข้าถึงการบริการตรวจโรคเเละการบำบัดที่ทันสมัยนี้ อย่างเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ซึ่งจะส่งเสริมให้นโยบายหยุดยั้งวัณโรคเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน"
ด้าน Mario Raviglione ผู้อำนวยการโครงการ Global TB แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า "ไม่มีประเทศใดในโลกไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ปลอดจากความเสี่ยงต่อการระบาดของวัณโรค เขาเตือนว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ยากจนถือเป็นอันตราย"
และว่า "เราไม่สามารถกำจัดวัณโรคด้วยการสร้างกำแพงกั้นหรือด้วยการปิดกั้นตนเองจากโลกภายนอก วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อผ่านทางลมหายใจ และคนเราเดินทางไปต่างประเทศทางอากาศซึ่งสะดวกรวดเร็ว และอาจนำโรคติดต่อไปด้วยโดยไม่รู้ตัว"
ดังนั้นเราจึงต้องหาทางรับมือกับโรคติดต่อร้ายเเรงนี้ด้วยมุมมองระดับนานาชาติ
เเนวทางด้านจริยธรรมใหม่ขององค์การอนามัยโลก รวมไปถึงการการเเก้ปัญหาความรังเกียจทางสังคม การเลือกปฏิบัติต่อ ตลอดจนการกีดกันทางสังคมต่อคนที่ติดเชื้อวัณโรค
องค์การอนามัยโลกชี้ว่า การปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนที่ติดเชื้อทุกคน จะช่วยป้องกันคนอีกมากมายจากการเสียชีวิต และยังช่วยให้การกำจัดวัณโรคให้หมดไปจากโลกมีความเป็นไปได้อีกด้วย