วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผลวิจัยชี้ “หมอกพิษ” กรุงปักกิ่ง อาจทำนำ้หนักขึ้นจนเป็นโรคอ้วนโดยไม่รู้ตัว ... ไม่ใช่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างเดียวแล้ว

ผลวิจัยชี้ “หมอกพิษ” กรุงปักกิ่ง อาจทำนำ้หนักขึ้นจนเป็นโรคอ้วนโดยไม่รู้ตัว 


แต่เดิม คิดแค่ว่าหมอกที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแค่ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ที่หายใจเข้าปอด แล้วจะเกิดการหายใจไม่สะดวกติดขัดแค่นั้น แต่ผลการศึกษาทางวิจัยพบว่าหมอกควันได้มีการพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นแล้ว ตั้งแต่การมีอนุภาคที่ขนาดเล็กถึง 2.5 ppm ซึ่งมีพื้นที่ผิวมากมาย เป็นที่เกาะของจุลชีพมากกว่า 1,300 ชนิด และผสมผสานด้วยสารปิโตรเคมีคัลจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงสารจากปุ๋ยที่ใช้ในดิน ทำให้เกิดการเกาะติดของสารพิษระเหยมาพร้อมกับหมอกฝุ่นด้วย



หมอกฝุ่นขนาดเล็กมากๆจะกระจายไปได้เร็ว และข้ามประเทศได้ไกลมากขึ้น มีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนสูงมาก ไม่ใช่แค่ฝุ่นอุดตันหายใจไม่สะดวกแล้ว ยังรวมถึงการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการติดเชื้อทางอากาศ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ ยังรวมถึงการเกาะติดแน่นที่ถุงลมปอดด้วยสารระเหยคล้ายยางมะตอย ที่เกาะติดผนังถุงลมปอดก็จะเอาไม่ออก ประสิทธิภาพของการหายใจเอาออกซิเจนเข้าปอดก็จะลดต่ำลง มีผลต่อร่างกายในระยะยาวด้วย



งานวิจัยใหม่ยังพบสิ่งที่น่ากลัวคือ หมอกพิษ มีผลต่อ metabolism ของสิ่งมีชีวิต ถึงจะเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง แต่ก็มีแนวโน้มเกิดกับคนได้เช่นกัน

นักวิจัยเผย “หมอกมลพิษ” ของนครหลวงแดนมังกร อาจเป็นสาเหตุชักนำสู่โรคเบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ หลังจากทำการทดลองกับ ‘หนู’ สองกลุ่มเพียงสามสัปดาห์ และพบผลลัพธ์ที่น่าตกตะลึง


     
อ้างอิงการศึกษาซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลจีนพบว่า หนูกลุ่มแรกที่สูดอากาศเสียจากพื้นที่โล่งแจ้งของกรุงปักกิ่ง มีภาวะปอด หัวใจ ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ และมีน้ำหนักตัวมากกว่าหนูอีกกลุ่ม ที่ได้สูดอากาศซึ่งถูกคัดกรองอนุภาคพิษออกไปจนสะอาดแล้ว
     
ทั้งนี้ หนูทดลองแต่ละกลุ่มประกอบด้วยหนูที่ตั้งท้องและหนูรุ่นลูกหลานของพวกมัน ซึ่งต่างถูกเลี้ยงดูด้วยอาหารในปริมาณและประเภทเดียวกัน  เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 19 วัน ปอดและตับของหนูตั้งท้องที่สูดอากาศเสีย กลับมีน้ำหนักมากขึ้นและแสดงอาการอักเสบของเนื้อเยื่อ รวมถึงตรวจพบระดับไขมันร้าย (แอลดีแอล-ซี) สูงกว่าร้อยละ 50, ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่าร้อยละ 46 และไขมันรวมสูงกว่าร้อยละ 97
     
นอกจากนั้นยังพบระดับการต่อต้านอินซูลิน (ตัวตั้งต้นของโรคเบาหวานชนิดที่สอง) สูงกว่าหนูทดลองอีกกลุ่มที่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ โดยการเปลี่ยนแปลงข้างต้นทั้งหมด ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นภาวะผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร อาจนำพาไปสู่โรคอ้วน
     
“การค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า การได้รับสารพิษแบบเรื้อรังจากมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาตัวของโรคอ้วนได้” จัง จวินเฟิง อาจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและโลก มหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐอเมริกา และผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว
     
“หนูที่สูดอากาศเสียมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะในช่วงท้ายของการตั้งท้อง และกรณีดังกล่าวก็แสดงออกมาในหนูรุ่นลูกหลาน ซึ่งถูกกักกันไว้ในห้องเดียวกับแม่ของพวกมันเช่นกัน”
     
ผลกระทบเชิงลบของมลพิษทางอากาศแสดงความชัดเจนยิ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แปดของการทดลอง โดยหนูเพศเมียและเพศผู้ที่ได้สูดอากาศเสีย มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และร้อยละ 18 ตามลำดับ สะท้อนถึงปัจจัยด้านเวลา ที่ยิ่งนานก็ยิ่งก่อการอักเสบและการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร
     
การศึกษาชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับการศึกษาอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่ามลพิษทางอากาศนำพาสู่ภาวะความเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ที่ร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากเกิน และการอักเสบของอวัยวะและระบบไหลเวียนเลือด ตลอดจนภาวะต่อต้านอินซูลินและเนื้อเยื่อไขมันแปลงตัว
     
“หากสามารถนำไปพิสูจน์จนพบว่าเป็นจริงในมนุษย์ การค้นพบเหล่านี้จะช่วยเร่งให้เกิดการตัดลดมลพิษทางอากาศเร็วขึ้น เพราะโรคอ้วนนั้นสร้างภาระหนักด้านการดูแลรักษา” จังกล่าว
     
ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะถูกตีพิมพ์ลงวารสารสหพันธรัฐของสมาคมชีววิทยาทดลองแห่งอเมริกัน (FASEB) ฉบับเดือนมี.ค. โดยคณะนักวิจัยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานของรัฐบาลจีน อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติจีน, กองทุนของห้องปฏิบัติการร่วมด้านการจำลองสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษแห่งรัฐ และสถาบันวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตของประเทศจีน

****************************************
เครดิต  เซ้าส์มอร์นิ่งโพสต์จีน